“ จังหวัดชุมพร ”
One night stay with locals. ชุมชนการท่องเที่ยวปะทิว (บางสน)
นอนโฮมสเตย์ เที่ยวเล ดำน้ำ กินปู ดูปลา หาหอย สอยเหยี่ยว เที่ยวเขา
พักจากเขา มาหาทะเล ปกติแล้วเช ไม่ค่อยมีโอกาสท่องเที่ยวแนวชิลล์ ๆ แบบนี้สักเท่าไร ทริปนี้ต้องขอบคุณโครงการ อส. Social พาเที่ยวชุมชน ของ ททท.ที่เปิดโอกาสให้เชและเพื่อน ๆ ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยโปรโมทการท่องเที่ยวแบบชุมชน ท่องเที่ยวกันแบบ One night stay with locals. โดยชุมชนที่เชจะมาเล่าเรื่องราวตลอด 2 วัน 1 คืน คือ
ชุมชนการท่องเที่ยวปะทิว (บางสน) จ.ชุมพร
โดยเชได้เข้าพักและทำกิจกรรมต่างๆ ที่ บ้านไม้ชายคลอง โฮมสเตย์ ตั้งอยู่ที่บ้านบางสน อ.ปะทิว จ.ชุมพร ที่นี่เป็นโฮมสเตย์เล็กๆ ริมคลองบางสน ที่เต็มไปด้วยวิถีชีวิตและเรื่องราวของชาวเล โดยทางชุมชนมีแผนการท่องเที่ยวและทำกิจกรรม ทั้งหมด 3 โปรแกรม โดยเชได้เลือกโปรแกรมที่ 1
การเดินทาง
1. ทางรถยนต์
2.ทางรถไฟ จากกรุงเทพฯ-สถานีรถไฟปะทิว ระยะทาง 485 กม.
3. ทางเครื่องบิน มีท่าอากาศยานชุมพร
4.รถทัวร์ กทม.- ชุมพร
สำหรับคนที่เดินทางด้วยรถไฟ รถทัวร์ และเครื่องบิน ทางโฮมสเตย์บริการรับส่ง 500 บาท
โปรแกรม 1 ราคา *ขั้นต่ำ 2 ท่าน
2-4 ท่าน ท่านละ 1,890 บาท
5 ท่านขึ้นไป ท่านละ 1,500 บาท
ราคานี้ที่พัก 2 วัน 1 คืน พร้อมอาหาร และกิจกรรมต่างๆ
- ขึ้นเขาดินสอแหล่งดูเหยี่ยวอพยพ
- ไหว้พระขอพร
- ล่องแพพิเศษเปิดโล่งรับลม พร้อมอาหารกลางทะเลแบบเต็มพิกัด (โดยเราจะได้ทำอาหารท้องถิ่นและขนมทานเองด้วย) ล่องไปตามคลองบางสนออกสู่แนวสันทรายปากอ่าว ชมพระอาทิตย์ตกยามเย็น
- ตกค่ำออกเรือชมแสงหิ่งห้อย
- ตกดึกนั่งตกปลาหน้าที่พัก
- หาหอย
- ดำน้ำ snorkeling ชมปะการัง หอยมือเสือ เกาะไข่
- ปล่อยปูกลับบ้านที่โรงรับจำนำปู
Voucher นี้ สามารถใช้ได้ตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2562
*จองที่พักและกิจกรรมล่วงหน้า 15 วัน
ติดต่อชุมชน: 080-7791650 คุณสมโชค
Facebook: www.facebook.com/homestaybangson
เอาหละหลังจากเกริ่นอะไรมามากมาย เราไปชมภาพและเรื่องราวต่าง ๆ กันค่ะ
เชเดินทางไปถึงชุมชนประมาณ 13:00 น. หลังจากขนของเข้าที่พักและทักทายกับพี่สมโชคพร้อมทั้งคุยกันว่าวันนี้เราจะไปทำอะไรบ้าง หลังคุยเสร็จพี่สมโชคพาพวกเราขึ้นรถไปยังจุดหมายแรกของเราในวันนี้ (อ่อทีมงานทีไปด้วยในครั้งนี้ มีน้องก้อง และพี่วุฒิ ไปร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ด้วย)
ดู “ฝูงเหยี่ยวอพยพ” ที่เขาดินสอ จังหวัดชุมพร
ในประเทศไทยจะพบเห็นเหยี่ยวได้ไม่บ่อยนัก แต่จะมีอยู่ช่วงฤดูกาลหนึ่งคือช่วงเดือนกันยายน-พฤศจิกายน ของทุกปี ที่จะมีฝูงเหยี่ยวและนกนาๆ ชนิด บินอพยพมากจากรัสเซีย จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน และฮ่องกง บินอพยพลงมาทางตอนใต้ เดินทางมาไกลกว่า 2,000-4,000 กิโลเมตร เพื่อหนีอากาศที่หนาวเย็นมาหาอากาศอบอุ่น และแหล่งอาหารอันอุดมสมบูรณ์
บริเวณที่สามารถเฝ้าดูและนับจำนวนเหยี่ยวอพยพได้ดีที่สุดคือที่ เขาดินสอ ตำบลบางสน อำเภอปะทิว ซึ่งเป็นพื้นที่โล่งอยู่ใกล้แนวชายทะเล มีความสูงจากระดับทะเล 736 เมตร อยู่ไม่ไกลจากถนนเพชรเกษม และตัวเมืองชุมพร เราสามารถดูเหยี่ยวอพยพได้ใกล้ที่สุด และถ้าเดินขึ้นยอดเขาไปอีกประมาณ 1 กิโลเมตร จะพบกับภาพความอัศจรรย์ของฝูงเหยี่ยวอพยพที่บินอยู่ทั่วฟ้านับแสนตัว และยังได้ชมวิวทิวทัศน์ของทะเลอ่าวไทยในพื้นที่อำเภอปะทิวที่สวยงามอีกด้วย
นอกเหนือจากเหยี่ยวแล้วพรรณไม้ดอกไม้ต่าง ๆ ระหว่างทางก็มีให้เห็นตลอดทาง เช่น ดอกเอนอ้า ดอกกระทุ เอื้องม้าวิ่ง นางอั่ว และเห็ดต่าง ๆ ที่ขึ้นอยู่เรียงรายตามสองข้างทาง
กลับจากดูนกก็มาช่วยแม่ทำอาหารเย็น วันนี้แม่สอนทำอาหารท้องถิ่นคือแกงหอยปูกันหรือหอยพู่กันใส่ใบมะขามอ่อน
หลังจากนั้นก็ถึงเวลาที่รอคอย คือล่องแพเปิดโล่งรับลม พร้อมอาหารกลางทะเลแบบเต็มพิกัด ล่องไปตามคลองบางสนออกสู่แนวสันทรายปากอ่าว ชมพระอาทิตย์ตกยามเย็น และสามารถโดน้ำเล่นได้ด้วย
ชมวิถีชิวิตของชาวเล หลังจากนั้นกลับที่พัก อาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้า เตรียมนั่งเรือไปชมหิ่งห้อยกันคะ หิ่งห้อยเยอะมากเกาะตั้งแต่โคนต้นไม้จนถึงยอดแสงระยิบระยับ ถือเป็นช่วงเวลาที่พิเศษที่สุด เนื่องจากอยู่บนเรือทำให้ไม่สามารถเก็บภาพหิ่งห้อยมาฝากได้
หลังจากดูหิ่งห้อยแม่สำเนียง พี่โชค พี่ชล กุ้ง และคนอื่น ๆ ในครอบครัว ได้สอนเช พี่วุฒิและก้อง ทำขนมพิ้นบ้านง่าย ๆ ชื่อขนมโรจี้ ส่วนผสมมีไม่เยอะ เช่นแป้ง น้ำตาล งาคั่ว ถั่วคั่ว ใช้เวลาทำไม่นานก็ได้กินแล้ว
หลังจากที่เราทำขนม ก็นั่งตกปลากันที่ระเบียงริมน้ำหน้าบ้านโดยมีคนในชุมคนมาร่วมสนทนาและเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ให้ฟัง จนตกดึกทุกคนก็แยกย้านกันเข้านอน (ถ้าใครชอบที่โล่ง ๆ สามารถกางเต็นท์นอนที่ระเบียงริมน้ำได้นะคะ)
เช้าวันที่ 2
เช้าวันที่ 8 สิงหาคม 2561 เราตื่นกันแต่เช้าเพื่อไปตลาด สิ่งแรกที่ทำคือใส่บาตร หลังจากนั้นเดินเที่ยวชมตลาด จับจ่ายชื้อของ และพูดคุยกับชาวบ้านอย่างสนุกสนาน
หลังจากซื้อของครบตามที่ต้องการแล้วก็กลับไปยังที่พักเพื่อรับประทานอาหารเช้า
ก่อนกลับบ้านพี่โชคพาไปไหว้พระที่เขาเจดีย์
จากคำบอกเล่าสืบทอดกันมาเกี่ยวกับประวัติการสร้างวัดเขาเจดีย์นั้นเล่ากันว่า เจ้าอ้าย เจ้ายี่เป็นเศรษฐี ๒ พี่น้อง ได้แล่นสำเภาขนาดใหญ่บรรทุกสิ่งของเครื่องใช้มากมาย พร้อมด้วยเหล่าบริวาร มาจอดเรือที่โคกยายแรม(หน้าวัดสุวรรณารามปัจจุบันนี้) เพื่อหายอดเขาที่สวยงามสำหรับก่อสร้างเจดีย์ได้พบยอดเขาที่ตั้งเขาเจดีย์จึงได้ให้บ่าวไพร่นำธงขึ้นไปปักบนยอดเขาแล้วทำการก่อสร้างเจดีย์ขึ้นโดยใช้คนยืนส่งก้อนอิฐที่จะสร้างเจดีย์โดยใช้คนส่งมือต่อมือจากที่เรือจอดบริเวณท่าโคกยายแรมถึงยอดเขาบางกระแสเล่าว่าเจ้าอ้ายพญา และเจ้ายี่พญา ซึ่งมีชีวิตอยู่สมัยต้นกรุงศรีอยุธยาเป็นผู้สร้าง โดยอ้างว่าเจ้าอ้ายพญาและเจ้ายี่พญาได้รวบรวมสิ่งของต่างๆ พร้อมด้วยบริวารลงเรือสำเภาเดินทางไป เมืองนครศรีธรรมราชเพื่อสร้างพระบรมธาตุ แต่เมื่อมาถึงเมืองปะทิวได้ทราบว่าทางนครศรีธรรมราชได้สร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงได้สำรวจยอดเขาบริเวณเมืองปะทิว พบยอดเขายอดหนึ่งที่สวยงามมาก จึงได้สร้างเจดีย์ขึ้นบนยอดเขา เขาลูกนี้จึงได้เรียกว่า “เขาเจดีย์”
กลับจากเขาเจดีย์ ก็มารับประทานอาหารเช้า และเตรียมตัวไปดำน้ำที่เกาะไข่
“ เกาะไข่”เป็น 1 ใน แหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติของอำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร ที่นักท่องเที่ยวยังไม่คุ้นหูกันมากนัก แต่เป็นเกาะที่มีจุดเด่นไม่เหมือนเกาะกลางทะเลอื่นๆ “เกาะไข่”มีหาดทรายขาว สะอาด รูปร่างคล้ายพระจันทร์ครึ่งเสี้ยว สามารถดึงดูดและเป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวให้มาเยือนเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆเพราะความป็นเอกลักษณ์ทางธรรมชาติ นั้นก็คือ “สุสานปะการัง”
ส่วนชื่อ “เกาะไข่”ชาวบ้านเล่าว่า เมื่ออดีตชาวบ้านที่มีอาชีพทำประมงได้ไปวางอวนจับปลารอบๆบริเวณเกาะและมักจะขึ้นไปเก็บไข่เต่าตะนุ ที่มันไข่ไว้บนหาดทรายมากิน ชาวบ้านจึงเรียกติดปากมาจนถึงทุกวันนี้ว่า “เกาะไข่” แต่ปัจจุบันนี้การเก็บไข่เต่าผิดกฏหมายจึงไม่มีชาวบ้านคนไหนเก็บเพราะกลัวโดนจับ แต่กลับกันชาวบ้านจึงร่วมกับฝ่ายราชการช่วยกันดูแลและอนุรักษ์เต่าตะนุไว้ให้เยาวชนรุ่นหลังและนักท่องเที่ยวได้เห็นอยู่คู่ธรรมชาติสืบต่อไป ปัจจุบันการฟื้นฟูของธรรมชาติและประกอบกับชาวบ้านในชุมชนช่วยกันอนุรักษ์จนสามารถกลับมามีทรัพยากรทางทะเลที่สวยงามเช่น ปลาสวยงามหลากหลายชนิด ปลาสิงโต ปลาการ์ตูนเช่น ปลาการ์ตูนลายปล้อง ปลาการ์ตูนแดง ปลาการ์ตูนอินเดียนแดง ปลาการ์ตูนมะเขือเทศ ปะการังกิ่ง ปะการังแผ่น ปะการังอ่อน และกัลปังหา หอยมือเสือ
กลับจากเกาะไข่ ก็ไปหาหอยพู่กันหรือหอยปูกันต่อ ระหว่างทางพี่ชลพาเก็บลูกจากและผ่าให้ทานกันสด ๆ รสชาติหอม หวาน อร่อย
หอยพู่กันหรือปูกัน เราว่ามันน่าจะชื่อคู่กันเพราะถ้าเจอจะต้องเจอสองตัวอยู่ใกล้กันเสมอ พี่ชนบอกว่าหอยที่หามาได้จะเอาไปทำอาหารทานกันในมื้อกลางวัน
กลับมาถึงแม่พี่โชคเอาหอยที่หามาได้ไปล้างและต้มให้พวกเราได้ทานกัน อาหารที่นี่อร่อยและน่าทานทุกมื้อ วันนี้เชบอกแม่ว่าอยากทานน้ำพริก แม่ก็จัดการทำให้ทาน อร่อยมาก ๆ เมนูในมื้อกลางวัน มีน้ำพริกกะปิกับผักสด หอยพู่กันต้ม ทอกมันหัวปลี ปูผัดผงกะหรี่ ห่อหมก แก้งส้มปลากระบอก และปลาราดพริก
ขากลับมีกะปิเคยแท้ เป็นผลิตภัณฑ์จากชุมชมที่ทำกันเอง เพียงปีละ 1 ครั้ง (เชไม่พลาดที่จะซื้อกลับมาฝากเพื่อนๆ)
หลังจากนั้นได้แวะไปเยี่ยมชมโรงรับจำนำปู โดยลุงเชค ได้กล่าวถึงการดำเนินการ”โรงรับจำนำปู”ว่า เพื่อ เป็นการอนุรักษ์ พันธุ์ปูม้า ให้มีปริมาณมากขึ้น ในท้องทะเลชุมพร จากการเกิดปัญหาปริมาณปูน้อยลงมาก อันเกิดจากการบริโภคมาก ทำให้ ชาวประมงเร่งจับปูทุกขนาดเพื่อนำไปขาย กระทั่ง แม่ปู ที่มีไข่ติดตัวก็ไม่เว้น เมื่อเวลาผ่านไปนานขึ้น ปริมาณไข่ปูที่เติบโต เป็นลูกปูก็ลดน้อยลงอย่างรวดเร็ว ปัญหาดังกล่าวส่งผลให้ รายได้ของชาวประมงลดลงอย่างต่อเนื่อง ความอุดมสมบูรณ์ของ ปูทะเลก็ลดน้อยลงเช่นกัน จึงทำให้มีการพูดคุยกับชาวบ้านว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร ทำให้มีการทำ”โรงรับจำนำปู”เกิดขึ้น โดย รับซื้อปูม้าที่มีไข่ติดตัว มาทำการอนุบาล เมื่อไข่ปูหลุดออกจากกระดองก็ จะนำลูกปูตัวเล็ก ๆ ไปอนุบาล จนสามารถปล่อยลงในท้องทะเลได้ แม่ปู 1 ตัว จะมีไข่ปู และ เป็นลูกได้ ถึง 1ล้านตัว หลังจากที่มีการทดลองทำอย่างต่อเนื่อง ปรากฏว่า ผ่านไป 4 เดือนแรก ส่งผลให้รายได้ของชาวประมงเพิ่มขึ้นจำนวนหนึ่ง เมื่อครบปี รายได้ กลับเพิ่มขึ้น เป็นอีก 1 เท่าตัว ปริมาณปูในท้องทะเลก็ มีมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จึงทำให้ชาวประมงหันมาสนับสนุน”โรงรับจำนำปู”มากขึ้น จนในเวลานี้ โรงรับจำนำปูสามารถแพร่พันธ์ปูลงสู่ท้องทะเลได้มากมายมหาศาล วันหนึ่งมากกว่าสิบล้านตัว และยังได้ขยายลูกปูขนาดเล็กไปยัง ท้องทะเล อำเภออื่น ๆ ใน จ.ชุมพรอีกด้วย
หลังจากเยี่ยมชมโรงรับจำนำปู ก็ถึงเวลาต้องร่ำรากัน มาเที่ยวที่นี่อบอุ่นเหมือนเราอยู่บ้าน ทุกมื้อเรากินข้าวร่วมกัน ได้พูดคุยและเล่าเรื่องราวในวิถีของตนเอง มีความสุขมากค่ะสำหรับทริปนี้ และท้ายสุดต้องขอขอบคุณโครงการดี ๆ จาก ททท. อส.Social พาเที่ยวชุมชน ของ ททท.ที่เปิดโอกาสให้เชและเพื่อน ๆ ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยโปรโมทการท่องเที่ยวแบบชุมชน ท่องเที่ยวกันแบบ One night stay with locals.
ช่างภาพ Saravut Naipreedee
ช่างภาพ Thatchakrit Kaantiwat
ติดตามไปเที่ยวกับเช ได้ที่
Facebook: www.facebook.com/JoyPunisher
Facebook: www.facebook.com/BackpackerAdminChe