“ จังหวัดพังงา ”
นอนโฮมสเตย์กลางน้ำ ปีนถ้ำชมภูผา นั่งเรือโทงรอบอ่าวพังงา
สัมผัสวิถีชีวิตช้า ๆ ..ที่บ้านสามช่องเหนือ จ.พังงา
ย้อนไปในวัยเด็กที่เราเล่นเกมปริศนาคำทาย คงจะมีคำถามนี้ให้คุ้นหู
“จังหวัดอะไร ช้างกลัวที่สุด”
“พังงงง-งาาาา”
ตาณจะพาไปเที่ยวจังหวัดที่เต็มไปด้วยเสน่ห์ของธรรมชาติ Destination ที่สวยงามติดอันดับโลก ทั้งท้องทะเลสีเขียวมรกต หมู่เกาะน้อยใหญ่ ภูเขาหินปูนรูปร่างแปลกตา ถ้ำหินงอกหินย้อยสุดลึกลับ สัมผัสวิถีชีวิตแบบคนท้องถิ่นที่บ้านสามช่องเหนือ” ชุมชน OTOP เล็ก ๆ สุดน่ารักริมฝั่งป่าชายเลน สุดแสนจะเรียบง่ายแต่เต็มไปด้วยวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่น่าสนใจ
วันที่ 1
เช้าวันที่ 9 สิงหาฯ เราเดินทางกับเพื่อนด้วยรถยนต์ที่เช่ามาจากจังหวัดกระบี่ จากกระบี่มาถึงบ้านสามช่องระยะทางประมาณ 113 กิโลเมตร ตลอดสองข้างทางมีภูเขาหินปูนที่แทรกด้วยต้นไม้สูงต่ำขึ้นเรียงราย สมคำขนานนามของจังหวัด ‘เมืองสวยในหุบเขา’
ใช้เวลาเดินทางประมาณชั่วโมงครึ่งก็มาถึงแยกบ้านสามช่อง ขับเลี้ยวซ้ายไปตามป้ายบ้านสามช่องเหนือ ทางเข้าเป็นถนนเล็กๆมีเงาไม้ร่มรื่นจากป่าชายเลน สุดถนนจะเห็นแลนด์มาร์คป็นน้องปูและหอยนางรมตัวยักษ์ตั้งเด่น กับตัวหนังสือ ‘ที่นี่สามช่อง’
เราโทรหาผู้ใหญ่สุรัตน์ สุมาลี ผู้ใหญ่บ้านของชุมชนบ้านสามช่องเหนือ ซึ่งเป็นผู้ดูแลโครงการท่องเที่ยวชุมชน ใช้เวลาไม่นานนัก ผู้ใหญ่ก็นั่งเรือหัวโทงมารับซึ่งอยู่ห่างจากหมู่บ้านแค่ 5 นาที ผู้ใหญ่พาพวกเราไปนั่งเรือคายัคชมระบบนิเวศป่าชายเลนก่อนที่จะเข้าหมู่บ้าน ซึ่งป่าชายเลนของจังหวัดพังงา ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์และใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
ระหว่างนั่งเรือฝนตกปรอย ๆ เคล้ากับบรรยากาศเงียบสงบ สังเกตได้ว่าน้ำกำลังเริ่มลง ทำให้เราได้เห็นรากต้นโกงกางชัด ๆ ที่นี่มีพันธุ์ไม้หลายชนิด ทั้งโกงกางใบเล็ก โกงกางใบใหญ่ ต้นแสมขาว ต้นฝาดดอกแดง ต้นลำพู และพืชประจำถิ่น พี่ไกด์มัคคุเทศก์ท้องถิ่นที่รับตำแหน่งฝีพายประจำเรือ ชี้ให้ดูหอยตัวเล็กที่เกาะอยู่บนรากโกงกาง กับลูกและเปลือกต้นตะบูน เปลือกต้นแสมที่ไว้ใช้ย้อมสีบนผ้ามัดย้อม
กล่าวได้ว่าป่าชายเลนเป็นบ้านของสัตว์ เป็นบ้านของคน และเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำต่างๆ เพราะป่าชายเลนเป็นเหมือนแหล่งอาหารของต้นไม้ สัตว์น้ำ เป็นแหล่งวัตถุดิบในการก่อสร้างต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การนำไม้ไปสร้างบ้านเรือนหรือส่วนต่าง ๆ ของหมู่บ้าน ก็จะใช้ไม้โกงกางที่เราไม่ใช้ประโยชน์แล้วมาสร้าง
ชาวบ้านเล่าให้เราฟัง ถึงตอนเกิดภัยธรรมชาติอย่างสึนามิเล่นงานหลายจังหวัดของภาคใต้ โชคดีที่บ้านสามช่องเหนือไม่ได้รับผลกระทบด้านความเสียหายเพราะอยู่คนละฝั่งกับคลื่นยักษ์ และยังมีป่าชายเลนยังเป็นกำแพงธรรมชาติที่ช่วยชะลอความเร็วของกระแสน้ำ
มันคงจะเป็นเรื่องจริงที่ว่า “โลกมีสมดุล” เมื่อมีคลื่นสึนามิ
ธรรมชาติก็สร้างสิ่งป้องกันให้เราไว้แล้วเช่นกัน
เมื่อพายเรือเสร็จ ชาวบ้านขับเรือมาส่งพวกเราที่หน้าท่า “บ้านสามช่องเหนือ” ที่นี่เป็นหมู่บ้านชาวประมง บ้านสามช่องเหนือ เมื่อก่อนจะเรียกว่ากันว่าทับเหนือ คำว่า ‘ทับ’ หมายถึงที่อยู่อาศัยชั่วคราวของชาวประมง ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2457 ก็ได้เปลี่ยนชื่อหมู่บ้านเป็น บ้านสามช่องเหนือ ตามที่มาของลำคลองสามสายที่ไหลผ่านเหนือหมู่บ้าน คือ คลองบางหลาม คลองเชียงใหม่ และคลองตาจอ และไหลมารวมกัน เรียกว่า คลองสามช่อง
” บ้านสายระย้า Homestay 2 “ เป็นโฮมสเตย์ที่พวกเราจะพักกันในคืนนี้
‘ม๊ะด้า’ เจ้าบ้านสาวชาวมุสลิมผู้ใจดี เดินเข้ามาแนะนำตัวและพาพวกเราไปดูห้อง เมื่อเปิดประตูเข้ามา พวกเราได้แต่ร้องโอ้โห! เพราะภาพที่คิดไว้ว่าการมานอนโฮมสเตย์ คงไม่ได้สะดวกสบาย แต่ที่นี่เป็นเหมือนโฮมสเตย์ระดับ 5 ดาวกันเลยทีเดียว
บ้านหลังนี้มีทั้งหมด 3 ห้องนอน เป็นของแขก 2 ห้องและอีกห้องเป็นห้องส่วนตัวของเจ้าของบ้าน ในห้องนอนมีแอร์ พัดลมให้เลือกเปิดตามใจชอบ พร้อมฟูกนุ่มๆดูดวิญญาณ มีห้องนั่งเล่นตรงกลางบ้าน ห้องครัวเล็ก ๆ และมีระเบียงนั่งเล่นติดริมน้ำบรรยากาศสบาย เหมาะกับการไปนั่งชิว ๆ รับลมตอนเย็น
เรานั่งคุยกับม๊ะถึงความเป็นอยู่ที่นี่ และกฎระเบียบของการมาเที่ยวในชุมชนบ้านสามช่องเหนือ ม๊ะบอกว่าชาวบ้านประกอบอาชีพเกษตรกรปลูกยางพารา ทำประมงชายฝั่งพื้นบ้าน บ้างก็ออกไปทำทัวร์ ที่นี่มีร้านค้าชุมชน มีโรงเรียนระดับประถมศึกษา และมัสยิดอยู่ศูนย์กลางของหมู่บ้าน เด็กๆในหมู่บ้านจะเรียนกันจนถึงชั้นป.6 แล้วไปต่อระดับมัยมศึกษาในเมือง
คนส่วนใหญ่ในหมู่บ้านนับถือศาสนาอิสลาม ม๊ะจะคอยบอกให้แขกที่มาพักแต่งตัวให้เรียบร้อย ใส่ขาสั้นได้แต่ไม่ควรจะสั้นมาก และจะขอห้ามเรื่องการใส่บิกินี่หรือชุดว่ายน้ำที่ดูไม่ค่อยสุภาพ เพราะจะดูไม่ค่อยเหมาะสม และบนเกาะจะขอสงวนเรื่องของมึนเมาต่าง ๆ
ผู้ใหญ่ฯเรียกพวกเราไปทานมื้อกลางวันที่ร้าน “พิงกันฮาลาลฟู้ด” ซึ่งเป็นร้านอาหารของผู้ใหญ่สุรัตน์ ที่นี่ถือเป็นร้านอาหารทะเลในชุมชนมุสลิมแท้ ผสานวัตถุดิบชั้นดีจากท้องทะเลที่ได้มาสด ๆ ทั้งกุ้ง, หอย, ปู, ปลา, ปลาหมึก ส่งตรงเข้าครัวจากมือชาวประมงทุกวัน เป็นร้านที่ขึ้นชื่อว่าใครมาพังงา ต้องได้มาลอง
หลังทานข้าวเสร็จ เราออกไปเดินเล่นชมบรรยากาศรอบหมู่บ้าน ที่นี่เงียบสงบ ดูเรียบง่าย เหล่าเด็กน้อยจับกลุ่มเล่นกันสนุกสนาน ไม่ว่าจะเดินผ่านบ้านไหน ทุกคนก็มอบรอยยิ้มให้พวกเราตลอดทาง
โปรแกรมของช่วงบ่าย พวกเราไปชมการทำกะปิเคย กะปิชื่อดังของบ้านสามช่องเหนือ ที่ทำมาจาก ‘กุ้งเคย’ ตัวเคยลักษณะคล้ายๆกุ้ง ตัวเล็ก ๆ ใส ๆ ขนาดยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร เปลือกบางและนิ่ม ตัวเคยจะอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูงตามชายทะเลและลำคลองบริเวณป่าชายเลน อยู่ในน้ำลึกประมาณหน้าแข้งถึงระดับหน้าอก
โดยการจับตัวเคยส่วนใหญ่จะใช้ตาข่ายไนล่อนสีฟ้านำมาเย็บเป็นถุงอวน เรียกว่าการ ‘รุน’ หรือใช้สวิงตักแล้วแต่ฤดูกาล คำว่า “รุน” ในภาษาใต้คือ ดัน หรือการเข็นไปข้างหน้านั่นเอง หลังจากนั้นจะทำการ “เช” หรือการตำตัวเคยให้แหลกก่อนที่จะผ่านกระบวนการหมัก และกลายมาเป็น “กะปิเคย” ด้วยภูมิปัญญาการถนอมอาหารพื้นบ้าน
ม๊ะแอบกระซิบเคล็ดลับความอร่อยของกะปิเคยที่บ้านสามช่องเหนือ คือการใช้ตัวเคยล้วน ๆ ทำให้มีรสชาติดี และมีกลิ่นหอม แตกต่างจากกะปิทั่วไปที่เป็นกะปิผสม
หาหอยแครงที่ธนาคารหอยแครงเพื่อการอนุรักษ์
เรานั่งเรือมาที่ป่าชายเลนจุดเดิมที่เราพายเรือยายัคในตอนเช้า ซึ่งช่วงเย็นเป็นช่วงที่น้ำลง จะมีเวลาในการเก็บหอยแครงในช่วงนี้เท่านั้น เด็กในชุมชนและชาวบ้านมาสาธิตวิถีการเก็บหอยแครง โดยการใช้กระดานเลนไถลไปบนโคลนดูน่าสนุก การเก็บหอยแครง ก็ใช้มือควาน ๆ ใต้เลนเพื่อหาหอย ก่อนจะเอาใส่ตะกร้า หากได้ตัวเล็กไปก็จะปล่อยกลับลงสู่ธรรมชาติให้เจริญเติบโตต่อไป
ผู้ใหญ่สุรัตน์เล่าว่าปกติแล้วจะซื้อลูกหอยแครงตัวเล็ก ๆ มาโปรย ให้เติบโตตามธรรมชาติ เพื่อเพิ่มปริมาณหอย และเมื่อลูกหอยโตเต็มที่แล้วจึงจะจับมาเป็นหอยแครงให้เรารับประทานกัน เป็นการเพิ่มแหล่งอาหารธรรมชาติไว้เก็บกินเก็บขายเลี้ยงชีพอย่างยั่งยืน
ชมฟาร์มปลาดุกทะเลตัวยักษ์ พื้นที่ป่าชายเลนของบ้านสามช่องเหนือ นอกจากชาวบ้านจะประกอบอาชีพประมงแล้ว ยังมีการทำฟาร์มหอยไม่ว่าจะเป็นฟาร์มหอยนางรม, ฟาร์มหอยแครง, ฟาร์มปลาต่าง ๆ
คุณลุงเจ้าของฟาร์มบอกกับเราว่า ปลาพวกนี้ยังไม่โตเต็มที่ ยังไม่ถึงวัยที่จะจับไปขาย แต่ที่เราเห็นเจ้าปลาดุกทะเลพวกนี้ก็ตัวใหญ่มากแล้ว ถ้าโตเต็มวัยเค้าจะตัวใหญ่ขนาดไหน
ยามเย็นที่สามช่อง พระอาทิตย์ลับขอบฟ้าไปแล้ว แทนที่ด้วยเมฆฝนลอยล่องชวนให้หวาดหวั่น เรือของเราขับผ่านป่าชายเลนที่มองไปไกลสุดลูกหูลูกตา มีเสียงเครื่องยนต์ของเรือหลายลำดังอยู่ไม่ไกล ทุกคนคงกำลังรีบขับเรือกลับบ้านก่อนที่ฝนจะหยดลงมา
ดีจัง…อยู่ที่นี่กลัวแค่เปียก ไม่ต้องกลัวรถติดเหมือนในเมืองใหญ่
มื้อเย็นเรามาฝากท้องกันที่ “ร้านพิงกันฮาลาลฟู้ด” เช่นเคย บรรดาหอยแครงที่เราไปจับเมื่อบ่ายเสิร์ฟรออยู่บนโต๊ะพร้อมกับหอยนางรมสดๆตัวใหญ่ และซีฟู้ดจานเด็ดที่เห็นแล้วชวนน้ำลายสอ เรื่องรสชาติคงไม่ต้องพูดถึง มื้อนี้กินกันอิ่มหนำก่อนจะแยกย้ายกันไปเข้านอน เตรียมตัวสำหรับการไปเที่ยววันพรุ่งนี้
วันที่ 2
แสงยามเช้าสาดส่องเข้ามาในห้อง เป็นสัญญาณว่าเช้าวันใหม่กำลังเริ่มต้นขึ้นแล้ว เราได้กลิ่นหอม ๆ ลอยมาจากในครัว เช้านี้ม๊ะด้าทำข้าวต้มกุ้งให้พวกเราทาน เรายกข้าวต้มไปนั่งที่โต๊ะริมน้ำ สูดอากาศที่แสนสดชื่นที่ปนกับกลิ่นทะเลจางๆ นั่งมองวิถีชีวิตของชาวบ้านที่กำลังเตรียมตัวออกเรือไปทำประมง บ้างก็ออกไปรับนักท่องเที่ยว
ช่วงสายพวกเรานั่งเรือหัวโทงจากบ้านสามช่องเหนือไปเที่ยวรอบอ่าวพังงา หรือที่เรียกเต็มๆว่าอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา ระหว่างนั่งเรือจะเห็นภูเขาหินตะกอน หินแปรสลับอยู่เป็นแนวยาว มีภูเขาหินปูนแทรกโผล่เป็นหย่อมๆ เพราะหินปูนมีคุณสมบัติสึกกร่อนจากการละลายน้ำได้ง่าย เกาะต่าง ๆ ในบริเวณอ่าวพังงาจึงมีรูปร่างแปลก ๆ และมีหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับการผุพังทำลายของเนื้อหิน
ปกติถ้านั่งเครื่องบินจากกรุงเทพมาเที่ยวภาคใต้ เราจะเลือกนั่งริมหน้าต่างแถว A หรือ F ทุกครั้ง เพื่อที่จะได้ถ่ายรูปอ่าวพังงาในมุมสูง แต่ไม่ว่าจะมองจากบนฟ้าหรือจากบนเรือ วิวก็สวยไม่แพ้กันเลย
เรือพาเรามาถึงจุดบริการนักท่องเที่ยว ซึ่งจะมีการเก็บค่าบำรุงอุทยานฯที่เราต้องจ่ายเอง นอกเหนือจากโปรแกรมเที่ยวกับชุมชน สำหรับคนไทย ผู้ใหญ่ ราคา 60 บาท เด็ก 30 บาท สำหรับชาวต่างชาติ ผู้ใหญ่ 300 บาท เด็ก 100 บาท ซึ่งเก็บไปเพื่อบำรุง รักษา และพัฒนาอุทยานแห่งชาติ
จากจุดบริการเราต้องเดินไปอีกประมาณ 50 เมตรเพื่อไปเที่ยวชมเขาตาปู-เขาพิงกัน ซึ่งเป็นเขาหินปูนในยุคเพอร์เมียน (Permian) หรือประมาณ 295-250 ล้านปีมาแล้ว เขาตาปู ได้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับโลก สร้างชื่อเสียงให้กับอุทยานฯอ่าวพังงา จากการถ่ายทำบางฉากของภาพยนตร์ James Bond 007 : The Man with The Golden Gun
ตอนนั้นเรายังไม่ได้ลืมตามาดูโลก แต่การันตีได้ว่าเขาสองลูกนี้เป็นที่รู้จักของชาวไทยและชาวต่างชาติมานานหลายสิบปีเลยทีเดียว หลายๆคนจึงเรียกเกาะนี้ว่า “เกาะเจมส์ บอนด์” (James Bond Islands)
และนอกจากนี้ภูเขาหินปูนรอบ ๆ เกาะยังมีรูปร่างแปลกตา บ้างเป็นช่อง เป็นโพรง เราชอบดูพันธุ์ไม้ที่ขึ้นอยู่กระจัดกระจายตามซอกหิน เป็นพันธุ์ไม้ที่แปลกตา บางต้นแห้งแกรน บางต้นก็ดูอุดมสมบูรณ์แม้จะไม่ได้มีดินมากมายให้เจริญเติบโต
แล้วทำไมถึงชื่อเขาพิงกันล่ะ ? เราเห็นเขาตาปู รูปร่างคล้ายตะปู ก็พอจะเข้าใจได้
แต่ภาพแรกที่เราได้เห็น ‘เขาพิงกัน’ คำตอบก็ชัดเจนเลย ก็เพราะเขามันพิงกันไง ฮ่าๆ
เขาพิงกันเป็นชื่อเรียกตามลักษณะธรรมชาติ ที่ภูเขาเกิดการทรุดตัวและมีหน้าตัดรอยแยกด้านหนึ่งเอียงมาพิงกับอีกด้าน เกิดเป็นลักษณะเขาที่พิงกันนั้น เกิดจากรอยเลื่อนปกติ (Normal fault) ตัดผ่านภูเขาด้านตะวันตกของเกาะ แนวรอยเลื่อนนี้เฉือนให้หินปูนส่วนริมของเกาะขาดจากหินส่วนใหญ่ที่เป็นตัวเกาะ
และนี่เป็นท่ายอดฮิตที่ใครหลายๆคนต้องถ่ายคู่กับเขาพิงกัน คือการทำตัวให้เอนเป็นแนวเดียวกับหิน ไม่รู้ว่าใครเป็นคนคิดท่านี้มาคนแรก แต่เรายืนดูอยู่ประมาณ 15 นาทีก็เห็นทุกคนต่อคิวเข้าไปถ่ายท่านี้เหมือนกันหมด
เรานั่งเรือมาเที่ยวต่อกันที่ “ถ้ำเพชรปะการัง” เรือพาเราลอดผ่านช่องเขาขนาดใหญ่ที่ทะลุผ่านระหว่างสองด้านของภูเขาหินปูน ก่อนจะให้น้องขึ้นไปผูกเชือกของเรือไว้กับท่อนไม้เล็ก ๆ ปกติแล้วถ้ำเพชรปะการังจะไม่ได้เปิดให้นักท่องเที่ยวทั่วไปเข้า มีแต่ชุมชนบ้านสามช่องเหนือจะพาเข้ามาได้เท่านั้น
ทางขึ้นถ้ำต้องไต่เขาขึ้นไป จะมีบันไดไม้ที่ชาวบ้านทำไว้ให้เราจับ ที่นี่คงจะไม่เหมาะกับผู้สูงอายุเพราะทางค่อนข้างชัน ในภาพที่เราถ่ายมาเป็นทางที่เดินง่ายที่สุดแล้ว เพราะช่วงที่ชันเราไม่สามารถถ่ายรูปมาให้ดูได้ เพราะมือนึงจับราวไม้ มือนึงไต่หิน 555
ในถ้ำเพชรปะการังเป็นโถงกว้างๆ มีหินงอกหินย้อยที่กระทบกับแสงแดดดูสวยงามแปลกตา มีการขีดเขียนของคนสมัยก่อน (แถมด้วยการขีดเขียนชื่อภาษาอังกฤษและรูปหัวใจของพวกมือบอน) มองไปอีกด้านของถ้ำจะเห็นปล่องอากาศและแสงลอดผ่านมารำไร ซึ่งบนปล่องนั้นเป็นอีก 1 จุดชมวิวเห็นเป็นมุมกว้างๆ สำหรับสาย adventure ก็ต้องโหนเชือกไต่เพื่อขึ้นบนปล่อง เหมือนปีนขึ้นสไลด์เดอร์สูง ๆ เลยล่ะ
ผูก..รัด..มัด..ย้อม..
ช่วงบ่ายเรากลับมาที่หมู่บ้านเพื่อทำ ‘ผ้ามัดย้อม’ เป็นกระบวนการทำที่มีเอกลักษณ์ มีเรื่องราวในตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นรอยต่อของผ้า ลวดลายที่ไม่สมบูรณ์แต่สวยงาม คุณป้าเล่าให้พวกเราฟังว่าสีต่าง ๆ ก็ได้จากธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นรากแก่น เปลือก ต้น ผล ดอก เมล็ด ใบ ซึ่งต้นไม้แต่ละชนิดให้โทนสีต่างกัน เช่น ไม้โกงกาง ไม้แสมดำ และเปลือกลูกตะบูน ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของต้นไม้นั้น ๆ
อย่างที่เราลองทำผ้าเช็ดหน้าในครั้งนี้ จะใช้สีจากเปลือกผลตะบูน ได้สีออกน้ำตาลแก่ เป็นการมัดย้อมที่ไม่ต้องใช้สารเคมีกระบวนการทำผ้ามัดย้อม จะเริ่มจากการนำเปลือกไม้ หรือใบไม้ของพืชป่าชายเลนมาต้มให้ได้น้ำสีเข้มข้น (เรียกว่า น้ำปะเตา) แล้วนำผ้าฝ้ายมามัดเพื่อสร้างลวดลายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้หนังยางรัดเป็นปล้อง ๆ ให้แน่นเพื่อสร้างลาย ใช้ตะเกียบคีบ การใช้เชือกมัด หรืออีกหลากหลายวิธีที่คิดสร้างสรรค์
หลังมัดแล้วต้องแช่ทิ้งไว้ในน้ำเปลือกตะบูน ยิ่งทิ้งไว้นานเท่าไหร่ก็จะยิ่งให้สีที่สดและชัดเจน กลังจากนั้นนำมาซักอีก 3 น้ำ คือ น้ำปูนแดง น้ำเกลือ และน้ำสะอาด จนกว่าจะหมดการตกสี แล้วตากให้แห้งอีกครั้ง
การทำผ้ามัดย้อมเป็นการนำวัตถุดิบที่มีอยู่มาเพิ่มมูลค่า และเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่ดำเนินตามแนวทางของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนบ้านสามช่องเหนือ และยังเป็นการสร้างชื่อเสียงให้กับผลิตภัณฑ์ของชุมชนอีกด้วย
สุดท้ายนี้ต้องขอขอบคุณ ผู้ใหญ่ฯ สุรัตน์ สุมาลี ผู้ใหญ่บ้านชุมชนบ้านสามช่องเหนือ ที่สละเวลาพาพวกเราไปเที่ยว ขอบคุณชาวบ้าน คุณลุง คุณป้าและน้องๆในชุมชน ที่ต้อนรับและดูแลพวกเราอย่างดีนะคะ
หวังว่าการเดินทางครั้งนี้จะทำให้ใครหลายๆคน อยากหาเวลาไปพักผ่อนเป็นรางวัลให้ตัวเองบ้าง
ตาณรับรองเลยว่าถ้าได้มา จะต้องตกหลุมรักชุมชนแห่งนี้อย่างแน่นอนค่ะ
หากสนใจอยากไปเรียนรู้วิถีชีวิตชุมชนที่เรียบง่ายมีเอกลักษณ์ ได้สัมผัสรอยยิ้มและการต้อนรับที่แสนอบอุ่นแบบนี้ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
One Night Stay with Locals : ชุมชนบ้านสามช่องเหนือ จ.พังงา
Fanpage : วิสาหกิจท่องเที่ยวโดยชุมชน บ้านสามช่องเหนือ
ติดต่อชุมชน: 086-7417949 ผู้ใหญ่สุรัตน์ สุมาลี
และยังมีอีก 13 ชุมชนน่าเที่ยวทั่วไทย 1nightstaywithlocals.com
แวะไปพูดคุยกับเพจเล็ก ๆ ของตาณได้ที่
www.facebook.com/loseoneisway
พบกันใหม่ทริปหน้า ขอบคุณที่ติดตามนะคะ ( ^ / \ ^ )